ความเครียด มีทั้งประโยชน์และโทษ ความเครียดชนิดที่เกินความจำเป็น แทนที่จะเป็นประโยชน์กลับกลายเป็นอุปสรรคและอันตรายต่อชีวิต เมื่อคนเราอยู่ในภาวะตึงเครียด ร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ มีการศึกษาพบว่าทุกครั้งที่เราคิดหรือมีอารมณ์บางอย่างเกิดขึ้นจะต้องมีการหดตัว เคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อแห่งใดแห่งหนึ่งในร่างกายเกิดขึ้นควบคู่เสมอ เมื่อวิกฤตการณ์ผ่านพ้นไปร่างกายจะกลับสู่สภาวะปกติ แต่ความเครียดที่เป็นอันตราย ก็คือความเครียดที่เกิดขึ้นมากเกินความจำเป็น เมื่อเกิดแล้วคงอยู่เป็นประจำ ไม่ลดหรือหายไปตามปกติ หรือเกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุการณ์ที่เป็นการคุกคามจริงๆ
ผลของความเครียดต่อชีวิต
     1. ผลต่อสุขภาพทางกาย ได้แก่ อาการไม่สบายทางกายต่างๆ เช่น ปวดหัว ปวดเมื่อยตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ความผิดปกติของหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคกระเพาะ อาการท้องผูกท้องเสียบ่อยๆ นอนไม่หลับ หอบหืด เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ฯลฯ
     2. ผลต่อสุขภาพจิตใจ นำไปสู่ความวิตกกังวล ซึมเศร้า กลัวอย่างไร้เหตุผล อารมณ์ไม่มั่นคง เปลี่ยนแปลงง่าย หรือโรคประสาทบางอย่าง นอกจากนี้ยังส่งผลไปถึง ประสิทธิภาพในการทำงาน สัมพันธภาพต่อครอบครัวและบุคคลแวดล้อม
       น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวภายในงานวันสุขภาพจิตโลก ประจำปี 2560 (World Mental Health Day 2017) ภายใต้แนวคิด “Mental health in the workplace : จิตดี๊ดี...มีสุข...สนุกกับงาน” ว่า ปัญหาสุขภาพจิตวัยทำงานทั่วโลกที่พบบ่อย คือ โรคซึมเศร้า ประมาณ 300 ล้านคน และ ภาวะเครียด โรควิตกกังวล ประมาณ 260 ล้านคน เพราะชีวิตส่วนใหญ่ของเราจะอยู่ในช่วงเวลาของการทำงาน ซึ่งมีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ หากมีประสบการณ์การทำงานที่ดี ย่อมส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตและผลผลิตของงาน ตรงกันข้ามหากมีประสบการณ์การทำงานที่ไม่ดี ย่อมส่งผลต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต เกิดปัญหาสุขภาพตามมา อาจใช้ยาเสพติด สุรา และหยุดงาน สำหรับประเทศไทย ปัญหาสุขภาพจิตวัยทำงานช่วงอายุ 20 - 59 ปี ที่น่าห่วง คือ ปัญหาการฆ่าตัวตาย ซึ่งพบว่า เป็นกลุ่มวัยที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุด อยู่ที่ 8.04 ต่อแสนประชากร โดยเฉพาะอายุระหว่าง 35 - 39 ปี มีอัตราการฆ่าตัวตายมากที่สุด 9.55 ต่อแสนประชากร และจากสถิติการขอรับบริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตของวัยทำงาน ผ่านสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันพบว่า ปัญหาทางจิตเวช เป็นปัญหาสำคัญลำดับแรกที่วัยทำงานโทร.เข้ามาปรึกษามากที่สุด จำนวน 20,102 คน รองลงมา คือ ปัญหาความเครียด หรือ วิตกกังวล การมุ่งมั่นเอาจริงเอาจังกับการทำงานเป็นสิ่งดี แต่ถ้าทำให้ถึงกับเครียดจนเกินไปก็ไม่ใช่สิ่งสมควร เพราะเมื่อเกิดความเครียดขึ้นแล้ว นอกจากจะทำให้ไม่ได้งานดีอย่างที่ตั้งใจไว้ ยังส่งผลเสียด้านอื่น ๆ ด้วย ดังนั้น การรู้จักผ่อนคลายความเครียดจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะนอกจากจะช่วยคลายเครียดและเสริมสร้างสุขภาพจิตที่ดีแล้ว ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นเกิดบรรยากาศที่ดีในการทำงาน ทำให้มีความสุขในชีวิตมากขึ้นด้วย กรมสุขภาพจิตจึงขอนำเสนอวิธีปฏิบัติเพื่อช่วยคลายเครียดในการทำงาน 10 วิธี ดังต่อไปนี้ คือ
          1.ออกกำลังกาย เมื่อรู้สึกเครียดจากการทำงาน การออกกำลังกายจนได้เหงื่อจะช่วยคลายเครียดได้ หลังเลิกงานหรือในวันหยุดควรออกกำลังกายหรือกีฬาบ้าง และถ้าได้เล่นกับกลุ่มเพื่อนจะยิ่งสุกสนานมากขึ้น และการช่วยกันทำงานบ้านในวันหยุด ก็ถือเป็นการออกกำลังกายที่ดีและยังช่วยให้สมาชิกในครอบครัวรู้สึกรักใคร่สามัคคี
          2.การพักผ่อนหย่อนใจ หลังเลิกงานแล้วควรจะได้พักผ่อนหย่อนใจบ้างเพื่อผ่อนคลายจิตใจ ทำให้พร้อมที่จะกลับไปทำงานอย่างมีประสิทธิภาพอีกครั้งหนึ่ง ควรเลือกที่ตรงข้ามกับงานประจำ เช่น งานประจำต้องนั่งโต๊ะทั้งวัน ยามว่างควรทำกิจกรรมกลางแจ้งที่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย หรือถ้างานประจำต้องให้บริการผู้อื่น ยามว่างควรไปให้ผู้อื่นบริการบ้าง เพื่อให้ชีวิตสมดุลและผ่อนคลาย
          3.การพูดอย่างสร้างสรรค์ จะช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงาน ควรหมั่นพูดคำว่า สวัสดี ไม่เป็นไร ขอโทษ และขอบคุณให้ติดปาก เพราะจะแสดงถึงความมีมารยาท มีน้ำใจ ให้อภัย และรู้คุณค่าการกระทำของผู้อื่นซึ่งเป็นเสน่ห์แก่ผู้พูด และผู้ฟังก็สบายใจด้วย ควรหมั่นพูดชมเชย ให้กำลังใจ ไต่ถามทุกข์สุข ปลุกปลอบใจ และประสานความเข้าใจกัน บางเรื่องไม่ควรพูดก็อย่าพูด จะช่วยตัดปัญหาและลดความเครียดลงได้มาก
          4.การแสดงอารมณ์อย่างเหมาะสม การเก็บกดอารมณ์ที่ไม่ดี หรือแสดงอารมณ์ที่ไม่ดี จะทำให้เกิดความเครียด ควรฝึกควบคุมอารมณ์ คิดก่อนทำ และทำอย่างเหมาะสม จะช่วยคลี่คลายสถานการณ์และไม่ทำให้เกิดปัญหาตามมา เมื่ออารมณ์ดี ควรยิ้มแย้มทักทาย พูดเล่น ฮัมเพลง จะทำให้ผู้ใกล้ชิด พลอยรู้สึกดีตามไปด้วย เมื่ออารมณ์ไม่ดี อย่าเพิ่งพูดหรือทำอะไรลงไป เพราะอาจเสียใจภายหลัง ให้หลบออกจากสถานการณ์สักพัก หรือหายใจเข้าออกช้า ๆ สัก 4-5 ครั้ง หรือนับ 1-10 ในใจก็ได้ พยายามคิดถึงผลเสียที่จะเกิดตามมา จะทำให้มีสติและแสดงออกได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น
          5.การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ร่วมงาน การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ร่วมงาน จะช่วยให้รู้สึกมีความสุขในการทำงานและช่วยให้ทำงานได้ดี มีประสิทธิภาพเพราะมีผู้คอยให้กำลังใจ การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ร่วมงานสามารถทำได้โดยการรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเราอยู่เสมอ อยากให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อเราอย่างไรก็ต้องปฏิบัติอย่างนั้นกับผู้อื่นเช่นกัน
         6.การบริหารเวลา การบริหารเวลาอย่างเหมาะสมจะช่วยให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีเวลาเหลือเพียงพอสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจส่วนตัว และมีเวลาให้ครอบครัวอย่างเพียงพอ ทำให้เครียดน้อยลง ควรทบทวนและจัดแบ่งเวลาให้เหมาะสม รีบทำงานสำคัญและเร่งด่วนให้เสร็จก่อน แล้วจึงทำงานอื่นภายหลัง ลองสังเกตเพื่อนร่วมงานที่บริหารเวลาได้ดี แล้วลองทำดูบ้าง อาจช่วยให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
         7.การแก้ปัญหาอย่างถูกวิธี ในการทำงานย่อมมีปัญหาเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ถ้าแก้ปัญหาอย่างใช้อารมณ์ ไม่มีเหตุผลจะทำให้เครียดมาก เพราะบางทีปัญหาเก่าก็ยังแก้ไม่ได้ แต่กลับสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาอีก ควรเริ่มต้นแก้ปัญหาที่สาเหตุ หาสาเหตุที่แท้จริงให้ได้ แล้วแก้ตรงนั้น ถ้าตัวเราเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาก็ต้องแก้ที่ตัวเราด้วย ถ้าคิดแก้ปัญหาเองไม่ได้ ก็ไม่ควรอาย หรือกลัวว่าจะเสียหน้าที่จะปรึกษาหารือและขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น เมื่อรู้วิธีแก้ไขปัญหาแล้วก็ควรลงมือทำทันที บางปัญหาอาจแก้ยาก ก็ให้อดทน อย่าท้อแท้ เพราะเมื่อแก้ปัญหาได้สำเร็จก็จะภูมิใจและหายเครียดไปเอง
        8.การปรับเปลี่ยนความคิด ความเครียดส่วนหนึ่งจะมาจากความคิดของคนเรานั่นเอง ถ้ารู้สึกว่าตัวเองคิดมาก คิดสับสนวนเวียนหาทางออกไม่ได้ ควรหยุดคิดสักพัก เปลี่ยนอิริยาบถไปทำอย่างอื่นก่อน เมื่อรู้สึกดีขึ้นค่อยกลับมาคิดใหม่ ลองปรับเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ เช่น คิดอย่างใช้เหตุผล คิดหลาย ๆ แง่มุม ลองคิดอย่างที่คนอื่นเขาคิด คิดเรื่องดี ๆ และคิดถึงคนอื่นบ้าง อย่าเอาแต่หมกมุ่นกับตัวเองมากเกินไป การคิดแบบใหม่ ๆ จะช่วยให้รู้สึกดีขึ้นและหายเครียดได้
         9.การสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจ "จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว" จิตใจที่เข้มแข็งจะช่วยให้เอาชนะความเครียดได้ การสร้างความเข้มแข็งของจิตใจ ทำได้โดยการสร้างความเชื่อมั่นในตัวเอง ให้กำลังใจตัวเองอยู่เสมอว่า "เราต้องทำได้" ต้องเข้าใจชีวิตให้ถ่องแท้ว่าไม่มีอะไรแน่นอน ไม่มีอะไรยั่งยืน จะได้ไม่ยึดติดกับลาภ ยศ สรรเสริญ และต้องใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบันให้มากที่สุด ไม่ติดอยู่กับอดีตหรือวิตกกังวลกับอนาคตให้มากเกินไป อย่าลืมที่จะสร้างความอบอุ่นในครอบครัว จะเป็นกำลังใจช่วยให้เราต่อสู้กับปัญหาและอุปสรรคได้อย่างดีที่สุด
       10.การรู้จักยืนยันสิทธิ์ของตน ความเครียดอาจเกิดได้จากการยอมอ่อนข้อหรือเกรงใจผู้อื่นมากเกินไปจนทำให้ตัวเองเดือดร้อน หากรู้จักยืนยันสิทธิของตนเสียบ้าง จะช่วยให้เป็นที่เกรงใจของผู้อื่นมากขึ้นและเครียดน้อยลง สิทธิ์ที่ควรยืนยัน ได้แก่ สิทธิ์ที่จะทำงานเร่งด่วนของตนเองให้เสร็จก่อน สิทธิ์ที่จะไต่ถามเพราะไม่รู้หรือไม่เข้าใจ สิทธิ์ที่จะเลือกทำสิ่งที่ตนเองพอใจโดยไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน สิทธิ์ที่จะเปลี่ยนใจเมื่อได้ข้อมูลใหม่ และสิทธิ์ที่จะชี้แจงเมื่อถูกเข้าใจผิด
ที่มา
      10 วิธีผ่อนคลาย จากความเครียดในการทำงาน www.sanook.com โดย ดร.สมสิทธิ์ มีแสงนิล
      บทความด้านสุขภาพจิต  กรมสุขภาพจิต  กระทรวงสาธารณสุข
      ข่าวจากหนังสือพิมพ์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิต  web site กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
ผู้เรียบเรียง
    ชลฤดี  สดศรี  พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ  กลุ่มงานอาชีวเวชกรรม โรงพยาบาลระยอง